000
ปรึกษาเครื่องเสียง อจ. ไมตรี โทร 099-569-6459    
 
บอร์ดพูดคุย, ซื้อ-ขายเครื่องเสียง
>> audio-teams.com
>> noom-hifi.com
>> wijitboonchoo.com
>> hifi55.com  
>> sk-audiophile.com
>> htg2.net
นิตยสารเครื่องเสียง
>> what Hi-Fi? Thailand
>> The Wave
>> Audiophile-Videophile
>> gm2000.com
>> The Stereo
ร้านค้าเครื่องเสียง
>> Piyanas Electric
>> KS Sons Group
>> Conice (บ้านทวาทศิน)
>> อัศวโสภณ
>> munkonggadget.com
>> bkkaudio.com
 
ปรับขนาดตัวหนังสือ เช่น 15, 16, 18, 20, + + / ยกเลิกใส่ 0 :

หมวดหมู่ > บทความ > ปกิณกะ > แผ่นสียง CD เรื่องผันผวนชวนคิด
วันที่ : 01/04/2016
7,210 views

แผ่นสียง CD เรื่องผันผวนชวนคิด

โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ

ท่านฟังว่า “แผ่นเสียง CD” แล้วอาจจะงง ตกลงมันคือแผ่นเสียง (LP) หรือแผ่น CD กันแน่

          จริงๆคือแผ่น CD ปกตินี่แหละแต่ใช้แผ่นจานเสียง (LP) เป็นมาสเตอร์ถ่ายลงแผ่น CD (จากอนาล็อกสู่ดิจิตอล) ขอเรียกง่ายๆสั้นๆว่า LP/CD ก็แล้วกัน

          ในอดีตมีการถ่ายบันทึกจากแผ่นเสียงลงรูปแบบสื่ออื่นมาตลอด เริ่มที่จาก LP ลงเทปม้วนเปิด (OPEN REEL) หรือ OR

          ผมจำได้ว่า เมื่อประมาณ 48 ปีมาแล้วเทปม้วนเปิด (OR) เป็นสื่อบันทึกเดียวของชาวบ้าน ขณะที่แผ่นเสียงอัลบั้มเพลงค่อนข้างหาได้ยาก โดยเฉพาะพวกเพลงสากล ร้านขายแผ่นเสียงจึงมีบริการบันทึกถ่ายจากจานเสียงลงเทป OR  โดยส่วนใหญ่แทบทั้งหมดใช้เครื่องเล่นจานเสียงยี่ห้อ GARRARD ของอังกฤษ หัวเข็ม SHURE (น่าจะเป็น V 15) เทปม้วนเปิดมีทั้ง 5 นิ้วและ 7 นิ้ว (ถ้าจำไม่ผิด) เป็นยี่ห้อเทปของ BASF ส่วนใหญ่, AMPEX ก็มีบ้าง (แพงกว่า) เลือกได้ว่าจะอัดลงเทปความเร็วช้าหรือเร็ว ถ้าช้าคุณภาพก็ต่ำลงหน่อย แต่นักเล่นส่วนใหญ่ก็เลือกความเร็วปกติ

          ผมเองก็เคยใช้บริการอยู่ 2 – 3 อัลบั้ม (ให้ห้างเบ๊เต็กฮวด อดีตตัวแทนจำหน่ายลำโพง JBL , BOZAX , Mcintosh บันทึกลงเทปให้ เครื่องเทปส่วนใหญ่น่าจะเป็น AKAI (ของญี่ปุ่น))

          ต่อมา ถึงยุคม้วนเทปคาสเสท (CASSETTE) ครองตลาด เบียดเทปม้วนเปิดตกยุคสูญพันธุ์ไป (มีใช้กันแต่ในสถานี วิทยุ,สตูดิโอบันทึกเสียง) ด้วยขนาดของคาสเสทที่เล็กกว่ามาก,สะดวกกว่าเยอะ ไม่ต้องมาคอยดึงสายเทปร้อยผ่านลูกยาง,หัวเทป,แกนนำ อย่างเทปม้วนเปิด อีกทั้งเทปคาสเสทสะดวกในการพกพา อย่างที่เทปม้วนเปิดหมดสิทธิ์ (มีม้วนขนาด 3 นิ้วและเครื่องเทปม้วนเปิดกระเป๋าหิ้วก็มี( 5 นิ้ว แต่ 3 นิ้วน้อยมากมีของ PHILIPS ยี่ห้อเดียว,รุ่นเดียว))

          อิทธิฤทธิ์แห่งความสะดวก,พกได้,เล่นในรถได้ของเทปคาสเสททำให้เครื่องเล่นแผ่นเสียงถึงกับแทบสูญพันธุ์ไปเลยเหลือเล่นกันในหมู่นักเล่นระดับเสี่ย,ระดับออดิโอไพล์เท่านั้น

          การบริการถ่ายจาก LP ลงเทปจึงกลายเป็นลงเทปคาสเสทแทนเทปม้วนเปิด อย่างไรก็ตามร้านขายแผ่นเสียงกลับ หงอยลงอย่างมาก แทบไม่มีใครมาจ้างบันทึกเนื่องจากเพลงยุคนั้นเข้าสู่ยุคดิสโก้ซึ่งครองใจวัยรุ่นอย่างถล่มทลาย (แม้แต่วัยกลางคน) และมีการบันทึกถ่ายจากแผ่นเสียงลงตลับเทปคาสเสทโดยใช้ตลับและเนื้อเทประดับสูงสุด (PREMIUM) ที่เรียกว่า METAL TAPE มีของ TEAC , TDK (ตัวตลับเป็นอลูมีเนียมหล่อ!) ค่ายที่ทำ (แน่นอนค่ายผี,ละเมิดลิขสิทธิ์) ดังที่สุด คุณภาพดีที่สุด มี 2 ค่ายในไทยคือยี่ห้อ PREMIER (มาก่อน) , WINNER (มาทีหลัง สัก 1 ปี) คุณภาพสุดยอดทั้งคู่ เผลอๆฟังแล้ว “ดีกว่า” จากแผ่นเสียงต้นฉบับด้วยซ้ำ ได้ข่าววงในว่าทั้ง 2 ค่ายใช้เครื่องลูกเทปบันทึกประมาณ 20 เครื่อง เครื่องระดับ 2 หมื่นกว่าบาท (HARMAN KARDON) ตัวมาสเตอร์ที่ถ่ายจากแผ่นเสียงจะบันทึกลงม้วนเทปวิดีโอ VHS HIFI (เครื่องของ PANASONIC 3   หมื่นกว่าบาท) ซึ่งสเปคดีกว่าคาสเสทพอควรทีเดียว ใช้ปรีแอมป์ระดับไฮเอนด์ , สายเสียง MONSTER INTERLINE 300 (เกือบ 4 พันบาทต่อเส้น) เครื่องเล่นจานเสียง TECHNICS SL-1200 หัว SHURE V15 #2  มือ MIX (DJ) เสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง 2 เครื่องควบเป็นระดับพระกาฬด้วยมือล้วนๆ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยหมูๆอย่าง DJ ในปัจจุบัน ภาคขยายหัวเข็มของ ROLA (ภาคจ่ายไฟพิเศษ) ที่ผมรู้ดีก็เพราะทั้ง 2 ค่ายก็รู้จักกัน (จริงๆแต่เดิมเขาก็เพื่อนกัน)

          คุณภาพคาสเสทที่บันทึกมาผมเคยเทียบกับที่ซื้อมาจากเมืองนอก ฝรั่ง,ญี่ปุ่นทำ (ซึ่งเขาน่าจะถ่ายจากเทปม้วนเปิดมาสเตอร์ด้วยซ้ำ) ของ WINNER กับ PREMIER กินขาดแทบไม่เห็นฝุ่น

          สำหรับเพลงไทยทั้งลูกกรุง,ลูกทุ่งจะถ่ายจากแผ่นเสียงลงเทปม้วนเปิดเช่นของ OTARI (ระดับอาชีพ) ก่อนปล่อยลง เครื่องบันทึกแบบความเร็วสูง คาสเสทตลับหนึ่งใช้เวลาบันทึกแค่ 1 นาที เป็นเครื่องระดับอุตสาหกรรมแบบสายเทปวิ่งเร็วจี๋ (ตัวเครื่องเบ้อเริ่มเลย)  เจ้าหนึ่งประมาณว่า 3 – 4 เครื่อง วันๆบันทึกได้เป็นพันม้วน คุณภาพเสียงที่เข้าท่าที่สุดคือเพลงไทยลูกกรุง (เก่า) ของตรานกแก้ว ก่อนหน้านี้จะเป็นของ PEACOCK (เพลงลูกกรุงกลางเก่ากลางใหม่…..สมัยนั้น) หลายค่ายทำออกมาเสียงอุบาทว์หูได้อย่างเหลือร้ายจริงๆ ขนาดว่าตัวเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงเองมีมาสเตอร์เทปเอง

          จากนั้นก็มาถึงยุคแผ่น CD (หมดยุคอนาล็อกสู่ยุคดิจิตอล) เต็มตัว แม้ว่ายุคแรกๆสุดเสียงจาก CD จะถูกวิพากษ์ วิจารณ์อย่างเสียๆหายๆ ขนาดค่ายที่ทำเครื่องเล่นแผ่นเสียงดังระดับไฮเอนด์โลกค่ายหนึ่งถึงกับระบุว่า ระบบเล่นแผ่น CD ให้ความเพี้ยนจริงๆถึงสองร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์! (ปัจจุบันค่ายนี้หันมาทำเครื่องเล่น CD ,ออกแผ่น CD เพลงเอง ,มีเว็บไซด์ ให้ดึงเพลง (เก็บเงิน) แต่ระบบ CD ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นๆอย่างมาก ด้วยทุกฝ่ายเล็งเห็นศักยภาพของมันที่พร้อมหมด ทั้งเล็ก,บาง,พกพาง่าย,,ความจุข้อมูลสูง,ราคาไม่แพง,เล่นง่าย,ทนทาน มีการปรับปรุงทั้งขบวนการบันทึกเสียง (การจัดภายในไมโครโฟนที่ต่างจากตอนจัดให้ระบบแผ่นเสียง),เครื่องบันทึกมาสเตอร์ระดับอาชีพ,ขั้นตอนการปั๊มแผ่นจนถึงตัวเครื่องเล่น CD ,วงจร DAC,วงจร FILTER ฯลฯ จนใช้เวลาแค่ 6 – 7 ปีแรกของการออกสู่ตลาด เสียงจาก CD ก็เป็นที่ยอมรับของหูชาวบ้านทั่วไป ผ่านไปอีก 3 – 4 ปี (รวมนับแต่เริ่มก็ 10 – 12 ปี) ก็เป็นที่ยอมรับของหูไฮเอนด์

          อัลบั้มเพลงของแผ่น CD ปัจจุบันน่าจะเข้าใกล้ 2 ล้านอัลบั้มทั่วโลก ขณะที่อัลบั้มแผ่นเสียงที่ยังมีขายกันอยู่หรือยัง ปั๊มออกมาใหม่ทั่วโลกไม่น่าเกิน 1 พันอัลบั้ม ราคาตัวแผ่น CD เพลงเองก็ลดลงมากจากแรกสุด 500 บาท/อัลบั้ม/แผ่น ก็เหลือต่ำกว่าร้อย-ร้อยกว่าบาท (พูดถึงอัลบั้มเพลงทั่วไป ไม่นับแผ่นหูทองไฮเอนด์ที่ตก 600 – 1,500 บาท  พูดง่ายๆว่า     CD ครองโลก  LP เป็นแค่ผงธุลี (แม้จะคุยว่าได้รับความสนใจมากขึ้น)

          เพราะอัลบั้มเพลงในรูป LP หลายๆอัลบั้มหาได้ยากมาก ถึงมากๆ ไม่มีการปั๊มออกมาอีกแล้ว จึงเปิดกาสให้มีการ ถ่ายจากแผ่น LP ลง CD  แรกเริ่มก็มาจากนักเล่นทำสนุกหรือแจกเพื่อน บางคนก็ทำขาย (แต่ก็ไปไม่รอดเนื่องจากไม่ได้ ใช้อุปกรณ์ที่ดีสุดๆจริงๆ)

          ถ้าจะว่าไปแล้ว ค่ายเพลงไทยลูกกรุงดังค่ายหนึ่ง แย่มากๆ เพื่อนไปขอซื้อลิขสิทธิ์เพลงมาทำแผ่น CD เขาคิด ห้าแสนบาท ให้ปกแผ่น CD (คงมีลายเซ็นต์)มา 2 – 3 ปึกสูงครึ่งคืบ แทนที่ให้มาสเตอร์เทป (ม้วนเปิด) มา รู้ไหมครับเขาให้อะไรมาทำเพลง เขาโยนแผ่นเสียงอัลบั้มนั้นมาให้ 1 แผ่นให้เด็กหน้าห้องถ่ายลงเทปม้วนเปิดให้ ด้วยเครื่องเล่นแผ่นเสียงถูกๆหัวเข็มถูกๆ MIXER ชุดเล็กซึ่งดูหน่อมแน้มมาก ลำโพงก็ถูกๆ ก็ต้องนั่งรอจนเขาถ่ายลงเทปเสร็จ ก็ได้เทป (จากแผ่นเสียง) นั้นไป แค่นั้นเอง ทุเรศที่สุด

          วันนี้ มีความพยายามผลักดันว่า ถ้าจะฟังเสียงไฮเอนด์ต้องฟังจากแผ่นเสียง และโวยวายว่าเสียง CD ใช้ไม่ได้ เมื่อการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้พ่อค้าต่างประเทศบางคนเห็นช่องทางหาเงิน ออกแผ่นเพลงอัลบั้ม CD บันทึกจากแผ่นเสียง อ้างว่าทำกันอย่างประณีตบรรจง แต่ก็ไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าใช้อะไรกันบ้าง บางอัลบั้มก็บอก แต่เป็นภาษาจีนล้วนๆ เพราะแผ่นพวกนี้มาจากฮ่องกง,จีน ทั้งหมด ยังไม่เห็นมาจากค่ายญี่ปุ่นหรือฝรั่ง แม้บางอัลบั้มจะเป็นเพลงฝรั่งเองก็ตาม

          ล่าสุด ของไทยก็เริ่มออกมา อย่างอัลบั้มของ INSPIRATION ที่ออกเป็นแผ่น CD มี 2 เพลง คุยว่าบันทึกอย่าง ไฮเอนด์ ดูเหมือนปั๊มในเยอรมัน เร็วๆนี้มีการนำอัลบั้มหรือพูดให้ถูกก็คือ นำมาสเตอร์เทปที่ใช้ทำแผ่น CD นั้น มาทำแผ่นเสียงออกขายอีกรูปแบบหนึ่ง เอาใจพวกหูแผ่นเสียง ล่าสุดผมเพิ่งซื้อแผ่น CD ชุดเยื่อไม้ 1 – 3 ที่ระบุว่า บันทึกถ่ายมาจากแผ่นเสียงอัลบั้มนี้ (เมื่อสามสิบกว่าปีมาแล้ว) อาจหามาสเตอร์เก่าไม่ได้แล้ว (ดูเหมือน CAP จะเป็นสปอนเซอร์แผ่นนี้)

เสียงจากแผ่นจานเสียง CD เป็นอย่างไร

          ย้อนกลับไปแผ่นเสียงอัลบั้ม INSPIRATION ที่ล่าสุดเมื่อเดือนกว่านี้ เขานำแผ่นเสียงนั้นมาเล่นด้วยเครื่องเล่น แผ่นเสียง(พร้อมหัว) 6 ชุด (ต่างเครื่องเล่น ,ต่างอาร์ม,ต่างหัวเข็ม......ไม่รู้ต่างภาคปรีแผ่นเสียงด้วยหรือไม่) นัยว่า เพื่อดูว่าแผ่นเสียงที่ทำออกมาจะออกหมู่ จ่า อย่างไรกับ 6 เงื่อนไขนั้น อีกทั้งเป็นโอกาสให้ชาวบ้านเบี้ยน้อยหอยน้อยได้มีวาสนาฟังเสียงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียงไฮเอนด์ ทั้ง 6 รุ่น 6 ยี่ห้อ (ที่ราคาตั้งแต่หลายหมื่นบาทถึงเกือบสองแสนบาท) แผ่น CD นี้ (ปกเหลือง) ขายอยู่ 950 บาท (ร้าน CAP)

          ผมเองได้มีโอกาสฟังแผ่นเหลือง (จากมาสเตอร์ดิจิตอลลงแผ่นเสียง) เทียบกับแผ่นเขียวเข้มดำ (จากมาสเตอร์ดิจิตอลเดียวกันลง CD ตรง) ภายใต้เงื่อนไขชุดเครื่องเสียงผมมูลค่าประมาณ 6 แสนบาท ห้องฟังจัดการด้านอคูสติกอย่างดี จูนชุดแบบระดับเทพทุกรูปแบบ (ป้องกันปัญหาคลื่นวิทยุกวนทั้ง WiFi ,PC, จอ LCD ,มือถือ,รีโมท ,นาฬิกาไฟฟ้า , โน้ตบุ๊ก,Ipad,ระบบระบายกระแส EDDY,การดูดคลื่นกวนด้วยกล่องผลึก,ฯลฯ ถ้าพูดละเอียดก็ได้เป็นอีกบทความ หนึ่งเต็มๆ) เวลาฟังตรวจสอบ Absolute Phase ของทั้งสองแผ่น CD (ดูเหมือนว่าจะตรงกัน เครื่องเล่น CD ที่ใช้ T + A 1260R (270,000 บาท)มีปุ่มกดกลับ Absolute Phase ได้ (ให้ดอกลำโพง ขยับเข้า หรือ ขยับออก….ต้องฟังที่ขยับออก เหมือนกัน)

          จากการฟังแผ่นเหลือง ผมชอบเสียงจากเครื่องเล่นชุดที่ 1 มากกว่าเพื่อน กับอีกเครื่องที่ดีลดหลั่นกันลงไป ที่เหลือผมว่าก็อย่างนั้นๆ ไม่ใช่ว่าเครื่องเขาไม่ดีนะครับ หากแต่ว่า เรียนตรงๆผมว่า ตัวมาสเตอร์เองก็ยังบันทึกไม่เนี้ยบเท่าไร มีการกดการสวิงเสียงไว้พอควร เสียงร้องไม่โฟกัสนักและขาดฮาร์โมนิก (มวล,เนื้อเสียง) ไม่มีทรวดทรง 3 มิติ (3D) เท่าที่ควร เวทีเสียงกว้างจริง หลุดลอยออกมาจริง แต่เป็นแผ่นกระดาน ลอยออกมาอยู่ในแนวนั่งฟังค่อนไปทางหลังเราไม่มีชิ้นดนตรี ระหว่างหลังเรากับบริเวณลำโพง เหมือนกับว่า สายไฟ AC ของอุปกรณ์บันทึกหรือของห้องบันทึก เดินย้อนทิศ (DIRECTION) กระนั้นก็ตามถือว่า เขาทำได้ไพเราะ น่าฟัง ฟังเพลิน

          จากนั้นผมย้อนมาฟังแผ่นอัลบั้มเดียวกันในรูป CD โดยตรง (ปดดำเขียว 2 เพลง) เทียบกัน เปิด Absolute Phase เร่งดังเท่ากัน ผลหรือครับ   แผ่นปกดำเขียว (ราคาถ้าจำไม่ผิด 200 บาท) ให้ทุกอย่างดีกว่าแผ่นปกเหลือง ในแง่ความคมชัด (ชัน) ของหัวโน้ต,หัวเสียง ทำให้ได้มิติโฟกัสชัดกว่า รายละเอียดเสียงผิว (TEXTURE) การตอบสนองหรือ TRANSIENT RESPONSE ดีกว่า เสียงหลุดลอยออกมาจะแจ้งกว่าคือ ปกดำเขียวดีกว่าประมาณ 5 – 8 % ซึ่งมากพอที่ผมจะไม่กลับไปฟังแผ่นเหลือง อย่างไรก็ตาม ใครมีเงินจะซื้อแผ่นเหลืองเก็บไว้ก็ไม่ผิดกติกา ผมว่าคุ้มกว่า แผ่นปกดำเขียวที่มีแค่ 2 เพลง (ปกเหลือง 3 เพลงแต่แพงกว่าเกือบ 5 เท่า! )

          ผลทดสอบเทียบ 2 แผ่น เป็นแค่ การเทียบเคียง จริงๆไม่ควรสรุปได้เด็ดขาดนัก ก็อย่างที่ผมเคยเปรยๆให้แฟนคลับฟัง

 แผ่นเสียง 1 อัลบั้มเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงจะได้ผลดังนี้

          100 หัวเข็ม (ต่างๆกัน)  ก็ได้  100 เสียง

          100 อาร์ม (ต่างๆกัน)    ก็ได้  100x100 = 10,000 เสียง

          100 เครื่องเล่น (ต่างๆกัน) ก็ได้ 10,000x100 = 100,000 เสียง

          แถมการปรับค่า C , L , R ของภาคขาเข้า ปรี PHONO ก็มีผลต่อเสียง อีกหลากหลายรูปแบบแทบนับไม่ถ้วน  ดังนั้น ถ้าจะสรุปก็คือ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ยินเสียงที่แท้จริงของมาสเตอร์ที่นำมาทำแผ่นเสียงนั้นๆ เสียงจึงอาจฟังดูดีกว่า ฟังจากแผ่นCD  อัลบั้มมาสเตอร์เดียวกัน ถ้าระบบการเล่นแผ่นมีการจัดสรร คัดเลือกเพื่อแก้ไข ชดเชยมาสเตอร์เอาไว้ มันก็อาจฟังดูดีกว่า CD

          การฟังแผ่นเสียงจึงไม่น่าจะมีสาระอะไร นี่อาจเป็นเหตุผลที่บางคนเล่นถึง 3 เครื่องเล่นแผ่นเสียง หรือ 1 เครื่อง 3 อาร์ม, 3 หัว มันก็แค่การเลือกใส่ผงชูรสเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนแท้จริงเลย

          ด้วยเหตุผลนี้ ถ้าใครจะซื้อแผ่นอัลบั้มเพลง CD ที่อ้างว่าบันทึกมาจากแผ่นเสียง ก็ไม่ห้ามอะไร ถ้ามันฟังไพเราะ ถูกใจ ราคารับได้ โดยไม่ต้องสนใจว่า กำลังฟังแผ่นเสียงอะไรอยู่

          สำหรับใครยังหลงใหล จงรักภักดีต่อการฟังแผ่นเสียงโดยตรงก็เป็นเรื่องของอารมณ์,ความชอบ, มายา (ที่ไม่มีวันเป็นของจริง)ก็ไม่ว่าอะไร อย่าแห่ตาม เบื่อง่ายก็แล้วกัน

www.maitreeav.com

www.maitreeav.com
สำนักงาน : 313/129 ซ. เคหะร่มเกล้า 64 แขวงคลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ 10520
โทร. 081-5500269 , 099-569-6459